สาระน่ารู้

เรื่องน่ารู้...ปัญหาข้อเข่าจากการเล่นกีฬา



Life Style ในการดำรงชีวิตในปัจจุบันโดยเฉพาะสังคมเมือง ที่ต้องเร่งรีบและแข่งขันทำให้เกิดสภาวะเครียดทั้งต่อร่างกายและจิตใจ การเล่นกีฬาจึงมีความสำคัญเพื่อฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจให้ พร้อมกลับไปทำงานและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

     การเล่นกีฬาเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการพักผ่อนซึ่งช่วยส่งเสริมทั้งสุขภาพ กายและใจ ทำให้ร่างกายแข็งแรงโดยกระตุ้นการทำงานของหัวใจและระบบ ไหลเวียนเลือด ทำให้เลือดสามารถนำพาออกซิเจนและสารอาหารไปสู่เซลล์ ต่างๆได้อย่างทั่วถึง นอกจากนั้นยังทำให้สมองหลั่งสารที่มีชื่อว่า Endorphine ซึ่งเป็นสารก่อความสุข ทำให้มีสุขภาพจิตดีขึ้นด้วย

     กีฬาที่นิยมเล่นมีหลากหลายชนิด ได้แก่ กอล์ฟ เทนนิส แบดมินตัน ฟุตบอล การเลือกชนิดของกีฬาที่เล่นขึ้นอยู่กับความชอบและที่สำคัญคือความพร้อมของสภาพร่างกาย

     เทนนิส เป็นอีกกีฬาหนึ่งที่ได้รับความนิยมสามารถเล่นได้ทุกเพศทุกวัย โดยไม่จำกัดอายุ และเป็นกีฬาที่ค่อนข้างปลอดภัย แต่ก็อาจทำให้บาดเจ็บได้ เนื่องจากมีการวิ่ง การเปลี่ยนทิศทาง การหยุดกะทันหัน การบาดเจ็บมีได้ตั้งแต่บาดแผลถลอก ฟกช้ำ เส้นเอ็นฉีกขาด ไปจนถึงกระดูกหัก

     การป้องกันบาดเจ็บทำได้โดย การฟิตซ้อมให้ร่างกายแข็งแรง เรียนรู้เทคนิคและฝึกซ้อมให้มีทักษะที่ถูกต้อง การเตรียมยืดกล้ามเนื้อและอบอุ่นร่างกายทั้งก่อนละหลังเล่นกีฬา


การปฐมพยาบาลเบื้องต้นทำได้โดยหลักการ “ RICE “
  •     Rest พักหรือหยุดเล่นทันที เพื่อป้องกันการบาดเจ็บเพิ่มขึ้น
  •     Ice ประคบเย็นให้เส้นเลือดหดตัว เพื่อลดอาการบวมและการเจ็บปวด
  •     Compression การกดหรือการพันบริเวณที่บาดเจ็บเพื่อลดบวม
  •     Elevation โดยยกส่วนที่บาดเจ็บให้สูงกว่าหัวใจลดลงการคลั่งของเลือดและอาการบวมยุบลง

     อวัยวะที่มักได้รับบาดเจ็บและเป็นปัญหาทำให้ต้องมาพบแพทย์บ่อยๆ คือ ข้อเข่า ซึ่งการบาดเจ็บมีได้ตั้งแต่แผลถลอก ฟกช้ำ กล้ามเนื้อฉีกขาด เส้นเอ็นข้อเข่า หมอนรองกระดูก กระดูกอ่อน และเยื่อหุ้มข้อฉีกขาด สะบ้าหรือข้อเข่าเคลื่อนหลุด

     การรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการอาการบาดเจ็บ กรณีที่บาดเจ็บไม่มากให้ปฐมพยาบาลโดยใช้หลัก “RICE” หากอาการบาดเจ็บไม่หายภายใน 2 – 3 วัน ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดและทำการรักษาที่ถูกต้องต่อไป

     เมื่อไปพบแพทย์จะทำการซักประวัติรายละเอียดขณะเกิดการบาดเจ็บและทำการตรวจร่างกาย ในกรณีจำเป็นอาจต้องตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมโดยการถ่ายภาพรังสี x-ray เพื่อดูการแตกหักของโครงสร้างกระดูกหรือ MRI เพื่อดูการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อเช่นกล้ามเนื้อ (Muscle) เส้นเอ็น (ligament or Tendon) หมอนรองกระดูก (Meniscus) กระดูกอ่อน (Cartilage)

     กรณีบาดเจ็บไม่มากจะให้การรักษาโดยการใช้ยารับประทาน เช่น ยาแก้ปวด ยาต้านอักเสบ หรือใช้ยาทาเฉพาะที่ บางกรณีมีการฉีกขาดของเส้นเอ็นหรือแตก หัก ร้าวของกระดูก อาจทำการรักษาโดยการใส่เฝือก ในบางกรณีอาจจำเป็นต้องรักษาโดยการผ่าตัด เช่น การฉีกขาดของเส้นเอ็น หมอนรองกระดูก กระดูกอ่อน การรักษาในปัจจุบันสามารถทำการผ่าตัดโดยผ่นกล้องแยยแผลเล็กเจ็บน้อย

ข้อดีของการผ่าตัดผ่านกล้อง
  • แผลเล็กไม่ทำลายเนื้อเยื่อข้างเคียง
  • เจ็บน้อย
  • ภาวะแทรกซ้อนต่ำ
  • ระยะเวลาพักในโรงพยาบาลสั้นลง
  • กลับคืนสู่กิจกรรมปกติได้เร็วขึ้น

     สำหรับกรณีที่กระดูกหักแบบเคลื่อน (displaced fracture) หรือกระดูกหัก เข้าไปในข้อ (Intra-articular fracture) มีความจำเป็นต้องทำการรักษาโดยการ ผ่าตัดยึดกระดูกที่หักด้วยเหล็ก ซึ่งในปัจจุบันมีการพัฒนาในส่วนของวัสดุ (Material) และดีไซน์ (Design) ของโลหะ (Implant) และเทคนิคการผ่าตัด “MIPO technique” (Minimally invasive plate osteosynthesis) ทำให้สามารถทำผ่าตัดโดยมีแผลเล็กและไม่จำเป็นต้องเปิดเนื้อเยื่อบริเวณ ที่กระดูกหักทำให้ กระดูกสามารถเชื่อมต่อได้เร็วกว่าการผ่าตัดโดยวิธีปกติ 

    การเล่นกีฬาเป็นการพักผ่อนที่ให้ประโยชน์ทั้งต่อสุขภาพจิตและสุขภาพกาย ทำให้เราสามารถใช้ชีวิตในสังคมที่เคร่งเครียดได้อย่างมีความสุข และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

 







ที่มา http://samitivejclub.exteen.com/20120408/entry-5

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น